“ผู้พันแซนเดอส์” เคยตั้งใจจะเขียนพินัยกรรมเพื่อจะจบชีวิตตัวเอง แต่ในที่สุดเขาก็เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้าย
พักเบรคเรื่องอาชญากรรมการแหกคุก หรือ การต้มตุ๋น มาดูเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ ในแบบฉบับผู้พันแซนเดอส์กันบ้างสักสัปดาห์ครับ
พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ หรือที่เรารู้จักในนาม “ผู้พันแซนเดอส์” ได้คิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง แต่การยิ่งครุ่นคิด ยิ่งกลายเป็นการตอกย้ำทำให้เขารู้สึกไร้ค่า เพราะเขารู้สึกว่างานต่างๆที่ผ่านมาในชีวิตไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงที่ตัวเขาปราถนาเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังทำให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ล้มเหลวมาเกือบทั้งชีวิต
แต่ทว่าชายชราร่างท้วมในวัย 65 ปี กลับค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งเป็นความต้องการที่ซ่อนเร้นในแรงปราถนาของเขามานาน
" จุดเปลี่ยน ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ "
หากย้อนเวลากลับไป ความสำเร็จของผู้พันแซนเดอส์ ที่เราเห็นเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น กว่าที่ผู้พันจะประสบความสำเร็จ เส้นทางชีวิตของผู้พันต้องประสบพบเจอกับความผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน และเคยเกือบจบชีวิตของตัวไปแล้ว เพราะความรู้สึกผิดหวังที่เขาได้รับอย่างรุนแรง
ชีวิตของผู้พัน ถือเป็นคนที่สู้ชีวิตมากๆคนหนึ่งเลยก็ว่าสได้ เขาเคยผ่านการทำงานในฟาร์ม ,เป็นกรรมกรก่อสร้าง ,เป็นพนักงานดับเพลิง ,เป็นคนขายประกัน ,คนขับเรือกลไฟ ,เป็นเลขา ,เป็นคนขายตะเกียง ,ทำงานด้านกฏหมาย ,เป็นพนักงานร้านกาแฟ และการเป็นทหาร แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่สิ่งที่เติมเต็มความต้องในชีวิตของเขาได้
ในวันแรกของการเกษียณอายุ พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ ได้รับเช็คเงินประกันสังคมฉบับแรกของเขา เป็นเงินเพียง 105 ดอลลาร์ ( ราวๆ 3,675 บาท)
เช็คดังกล่าวเป็นเหมือนตัวแทนของรัฐที่ฝากมาบอกเขาว่า เขาไม่อาจจะดูแลตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว นั่นแปลว่าเขาต้องใช้ชีวิตต่อจากนี้กระทั่งวาระสุดท้ายด้วยเงินสนับสนุนเพียงน้อยนิดจากรัฐบาล
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขารู้สึกล้มเหลว เสียกำลังใจ และท้อแท้ในชีวิต จนกลายเป็นปมในใจที่ฝังรากลึกในตัวเขามานาน ผู้พันแซนเดอส์ มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่าเขาใช้ชีวิต 65 ปีมาเพื่ออะไร “เพื่อความศูนย์เปล่าไร้คุณค่าอย่างนั้นหรือ”
แถมยังต้องมีชีวิตอยู่โดยให้รัฐบาลดูแล นั่นยิ่งตอกย้ำ และกล่อมเกลาให้เขาคิดตัดสินใจในด้านมืดว่าจะฆ่าตัวตาย เขาหยิบกระดาษหนึ่งแผ่นกับดินสอหนึ่งแท่งนั่งลงใต้ต้นไม้ในสวนหลังบ้านอย่างสงบ ตั้งใจที่จะเขียนคำสั่งเสีย และพินัยกรรมเมื่อเขาจากโลกนี้ไป
แต่ในขณะที่จิตใจเขาล่องลอยอยู่นั้น เหมือนมีอะไรมาดลใจ ทำให้เขานึกถึงช่วงเวลาดีๆในชีวิตที่ผ่านมา มันทำให้ความรู้สึกของเขาสว่างโพลงขึ้นมา เขาจึงเริ่มต้นเขียนอะไรบางอย่างลงในกระดาษแทนที่จะเขียนพินัยกรรมดังที่ตั้งใจในตอนแรก
โดยสิ่งที่เขาเขียนลงบนกระดาษ คือสิ่งที่เขาควรจะเป็น ชีวิตที่เขาควรจะมี และสิ่งที่เขาปรารถนาในช่วงชีวิตสุดท้ายที่เหลืออยู่ เมื่อนั้งเขียนอยู่นาน ผู้พันแซนเดอส์ก็ค้นพบความจริงในชีวิตว่าเขายังไม่เคยทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันกับเขาสักอย่างเลย !
เขานั่งครุ่นคิดกับตัวเองอย่างจริงจัง มีบางอย่างที่เขาสามารถทำได้บางอย่างที่คนที่รอบตัวทำสู้เขาไม่ได้ ใช่! เขารู้วิธีปรุงอาหาร เขาตัดสินใจกับตัวเองอีกครั้ง
ในที่สุดเขาเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ เพื่อทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จสักหนึ่งเรื่องก็ยังดี เขาตั้งใจว่าถ้าเขาจะตาย เขาก็อยากจะตายในแบบที่ได้ลองพยายามเป็นใครสักคน และทำบางสิ่งบางอย่างที่มีค่าด้วยชีวิตที่เหลืออยู่
เขาลุกจากเงาไม้ มุ่งหน้าไปยังธนาคารในเมือง เพื่อขอยืมเงินจำนวน 87 ดอลลาร์จากเช็คประกันสังคมฉบับต่อไปของเขา ผู้พันแซนเดอส์ใช้เงิน 87 ดอลลาร์ เพื่อซื้อกล่องเปล่า และไก่จำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามชีวิตหลังการเป็นพ่อครัวในร้านกาแฟ จนถึงช่วงเวลาที่คิดค้นสูตรไก่ทอดได้ ใช่ว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนเสียเลยทีเดียว ในระหว่างนั้นเขาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทอดไก่ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาทอดไม่น้อยกว่า 20 นาที ให้เหลือเพียงแค่ 9 นาที ด้วยการนำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในยุคนั้นอย่างกระทะทอดแบบแรงดันเข้ามาใช้งาน
หลังจากคิดค้นสูตรได้แล้ว ผู้พันแซนเดอร์สต้องเดินไปเคาะประตูบ้าน และร้านอาหาร เพื่อนำเสนอไก่ทอด ซึ่งเขาต้องสาธิตปรุงไก่ทอดของเขา ให้เจ้าของร้านอาหารลองชิม เพื่อยืนยันว่าไก่ของเขาอร่อยจริงๆ แต่กลับถูกปฏิเสธมากถึง 1,009 ครั้ง และในครั้งที่ 1,010 นั่นเองที่ไก่ทอดของเขาได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของร้านเคเอฟซีแห่งแรกของโลก ณ รัฐเคนตั๊กกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้วยรสชาติอันยอดเยี่ยมของไก่ทอดที่ปรุงด้วยสมุนไพร และเครื่องเทศสูตรพิเศษ 11 ชนิด คุณภาพของอาหารที่ปรุงสดใหม่
โดยเฉพาะไก่ที่ปราศจากฮอร์โมนเร่งโต หรือสารปรุงแต่ง และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน ทำให้ไก่ทอดเคเอฟซีได้รับความนิยม และขยายสาขาไปอย่างกว้างขวางทั่วโลกนับจากนั้นเป็นต้นมา ในปี ค.ศ. 1950 แซนเดอร์สได้พัฒนาบุคลิกของเขาให้เป็นสัญลักษณ์ของกิจการ ซึ่งก่อให้เกิดการจดจำอัตลักษณ์แบรนด์ที่มองปราดเดียวก็จำได้
โดยเขาได้ไว้เคราแพะ แล้วย้อมหนวด และเคราเป็นสีขาว แล้วผูกไทร์แบบเป็นเส้น (String tie) นั่นเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนจำได้ หลังจากที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักพักไก่ทอดเคนตั๊กกี้ได้ก่อตัวขึ้นในรูปบริษัทเป็นครั้งแรก โดยผู้ก่อตั้งคือผู้พันแซนเดอร์ส เหมือนกำลังจะไปได้ดี แต่ทว่าร้านอาหารหลักของเขาก็ประสบปัญหาล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากเกิดการตัดถนนสายใหม่ระหว่างรัฐ จึงทำให้คนไม่เดินทางผ่านถนนท้องถิ่นเดิมมาที่ร้านของเขา
เมื่อเกิดวิกฤติมีลูกค้าน้อยลง เขาได้ใช้เงินจากเงินสวัสดิการเกษียณอายุใบแรก เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางไปเยี่ยมผู้ซื้อแฟรนไชส์ของเขา และนี่อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เขาหันมาทำกิจการแฟรนไชส์เครือข่ายร้านอาหารอย่างจริงจัง แม้วัยของเขาจะเข้าสู่วัยสูงอายุมากแล้วก็ตาม
ในปี ค.ศ. 1964 ผู้พันแซนเดอร์สได้ขายกิจการไก่ทอดเคนตั๊กกี้ให้แก่ กลุ่มนักลงทุนมืออาชีพที่มี Jack Massey และ John Y. Brown Jr. เป็นแกนนำ และเพื่อรักษาไก่ทอดเคนตั๊กกี้ ให้คงคุณภาพ และรสชาติแบบดั้งเดิม จึงมีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมแห่งชาติของ KFC ขึ้นในปีค.ศ. 1978 โดยผู้พันแซนเดอร์สเป็นผู้ตรวจสอบการรักษารสชาติของไก่ทอดหม้อแรกให้กับ พีท ฮาร์แมน ผู้ที่ได้แฟรนไชส์เป็นรายแรก
ผู้พันแซนเดอส์พลิกชีวิตกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน ร้าน KFC เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่ออายุย่างเข้าวัย77 ปี ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเซเลบริตี้ ที่เป็นที่จดจำมากที่สุดคนหนึ่งของโลก และแล้ววันที่โลกต้องจดจำก็มาถึงอีกครั้ง ซึ่งเป็นการปิดตำนานนักสู้ชีวิตของ พันเอกฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอส์ หรือที่เรารู้จักในนาม “ผู้พันแซนเดอส์” ลงชั่วนิตนิรันดร์
เขาได้เสียชีวิตลงในวัย 90 ปี อันเป็นผลมาจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคปอดบวม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1980 ที่หลุยส์วิล รัฐเคนตั๊กกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้หลังจากเขาเสียชีวิต ร้านอาหาร KFC ของเขาก็ยังคงได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยในปัจจุบัน ร้าน KFC มีสาขาต่าง ๆ เกือบ 30,000 ร้านทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีสาขากระจายอยู่แทบจะทุกจังหวัด
อ้างอิงโดย :